เดนมาร์ก อันดับ 1 สะอาดที่สุดในโลก

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ดัชนีวัดผลการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance Index : EPI) ได้จัดอันดับให้เดนมาร์กเป็นประเทศที่สะอาดที่สุดในโลกด้วยคะแนนสูงสุด 77.9 (ประเทศไทย 38.1) จากผลการประเมินใน 180 ประเทศตาม 40 ตัวชี้วัดใน 11 หมวดหมู่ พบว่า เดนมาร์กมีความเป็นเลิศใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) คุณภาพอากาศ (2) สุขาภิบาลน้ำ (3) การจัดการขยะ (รีไซเคิลขยะได้ 90% และอีก 10% แปลงเป็นพลังงาน waste-to-energy plants) ซึ่งไม่เพียงแต่ลดปริมาณของเสียแต่ยังช่วยให้เดนมาร์กมีความเป็นอิสระด้านพลังงานอีกด้วย

ชาวเดนมาร์กมีน้ำสะอาดและอากาศบริสุทธิ์ตลอดปี ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาด้านคุณภาพอากาศอยู่ มาร่วมถอดบทเรียน นโยบาย มาตรการ และเทคโนโลยีในการบริหารจัดการอากาศสะอาด ที่เดนมาร์กได้ริเริ่มล่วงหน้ามาแล้ว กว่า 50 ปีกับ TNIU-สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน

Highlights

Source: State of Green, “The story of Denmark’s green transition”

นโยบายและกรอบทางกฎหมายในการควบคุมคุณภาพอากาศ

ในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา เดนมาร์กได้กำหนดนโยบายและกฎระเบียบหลายฉบับเพื่อป้องกันปัญหามลพิษทางอากาศ ล่าสุดเมื่อปี 2563 รัฐสภาเดนมาร์กได้เห็นชอบพ.ร.บ.สภาพภูมิอากาศ (Climate Act) กำหนดเป้าหมายที่มีผลผูกพันทางกฎหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 70 (เมื่อเทียบกับปีฐานเมื่อปี 2533) ให้ได้ภายในปี 2573 รวมทั้งได้ตั้งเป้าหมายที่จะปลอดจากเชื้อเพลิงฟอสซิลภายในปี 2593 ซึ่ง พ.ร.บ. กำหนดให้มีกลไกกำกับดูแลโดยคณะกรรมาธิการอิสระด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านภูมิอากาศ (Climate Action Plan) ของรัฐบาลเดนมาร์ก ใน 6 สาขา ซึ่งจะมีการทบทวนทุก 5 ปี ได้แก่ (1) ภาคพลังงานและอุตสาหกรรม (2) การก่อสร้างและที่อยู่อาศัย (3) การจัดการขยะ (4) การขนส่ง (5) การปฏิรูปภาษี และ (6) ภาคเกษตรกรรม เพื่อนำเสนอต่อรัฐสภาทุกปี นอกจากนี้ ยังมีกฎระเบียบที่ครอบคลุมภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่

1. ภาคการขนส่ง

เดนมาร์กได้ออกกฎระเบียบแห่งชาติและดำเนินการตามกฎระเบียบของ EU ในการลดมลพิษทางอากาศและปรับปรุงคุณภาพอากาศในเมือง ซึ่งรวมถึงกฎระเบียบ/มาตรฐานเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของยานพาหนะและการควบคุมปริมาณกำมะถันในน้ำมันเชื้อเพลิง ภายหลังจากที่ทั่วโลกยอมรับว่า สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) นั้นเป็นมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เดนมาร์กยังตั้งเป้าที่จะเป็นประเทศแนวหน้าในการเปลี่ยนผ่านสีเขียวด้านการขนส่งทางทะเล ตามยุทธศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศของ IMO ที่มีเป้าหมายทำให้ภาคการขนส่งทางเรือมีความเป็นกลางต่อสภาพภูมิอากาศภายในปี ค.ศ. 2050 และเป็นประเทศผู้ขับเคลื่อนการจัดตั้งพื้นที่ควบคุมการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ในทะเลบอลติกและทะเลเหนือ

2. ภาคอุตสาหกรรม

เมื่อปี พ.ศ. 2517 เดนมาร์กได้ออกพ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Act) ซึ่งกำหนดให้บริษัทที่มีการปล่อยมลพิษจะต้องผ่านการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อมจึงจะสามารถดำเนินการผลิตได้ และนำไปสู่การจำกัดค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมและพลังงานในปัจจุบัน การบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งแวดล้อมอยู่บนหลักการของการกระจายอำนาจโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้มีการดำเนินการและจัดการปัญหาอย่างใกล้ชิดกับผู้คนหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมากที่สุด ด้วยเหตุนี้ เทศบาลจึงเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายที่ออกโดยส่วนกลาง และเป็นปัจจัยที่ทำให้ พ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดการปล่อยมลพิษในท้องถิ่นและลดความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนในภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนด้านการวิจัยต่าง ๆ ด้วย

ย่านอุตสาหกรรมเดนมาร์ก Source: State of Green

3. ภาคเกษตรกรรม

ข้อมูลจาก EU ระบุว่า 50% ของฝุ่น PM ในเมืองอาจมาจากแอมโมเนีย ซึ่ง 95 % ของแอมโมเนียมาจากภาคการเกษตร ในฐานะที่เดนมาร์กเป็นผู้ผลิตทางการเกษตรรายใหญ่ที่มีการผลิตอาหารขั้นปฐมภูมิ (primary food production) จึงต้องมีการควบคุมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ โดยเมื่อปี 2550 เดนมาร์กได้ออก พ.ร.บ. ปศุสัตว์ (Livestock Act) โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณแอมโมเนียที่เป็นสาเหตุของฝุ่นละออง และนำมาซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีภายในภาคการเกษตรของเดนมาร์ก รวมทั้งควบคุมทุกขั้นตอนที่ปล่อยแอมโมเนียจากการผลิตทางการเกษตร เช่น ฟาร์มขนาดใหญ่จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อมในการประกอบการเพื่อรับประกันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่ปลอดภัย และมีการนำเทคโนโลยีที่ดีที่สุดหรือ Best Available Technology (BAT) มาใช้

4. ภาคการก่อสร้าง

เมื่อปี 2564 รัฐบาลเดนมาร์กได้ออกยุทธศาสตร์ระดับชาติสำหรับการก่อสร้างที่ยั่งยืนและได้เริ่มบังคับใช้ข้อกำหนดด้านสภาพอากาศในปี 2566 เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากภาคการก่อสร้างโดยกำหนดให้อาคารใหม่ทั้งหมดต้องมีการประเมินวงจรชีวิตของอาคาร (Life Cycle Assessments LCA) และต้องบันทึกผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดอายุการใช้งาน 50 ปี ผ่านการคำนวณ LCA อาคารใหม่ที่มีขนาดเกิน 1,000 ตารางเมตร จะต้องปฏิบัติตามค่าจำกัดซึ่งอยู่ที่ 12 กิโลกรัมของปริมาณคาร์บอนต่อตารางเมตรต่อปี นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้ใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ การลดของเสียและมลภาวะในสถานที่ก่อสร้างให้เหลือน้อยที่สุด และการใช้พลังงานสีเขียวในไซต์การก่อสร้างแทนการใช้พลังงานจากก๊าซและดีเซลที่ทำให้เกิดฝุ่นควันและก๊าซคาร์บอน ตลอดจนสนับสนุนให้สถาปนิกออกแบบอาคารเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศและการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อทำความร้อนภายในอาคารด้วย 

Source: https://www.lcabyg.dk/en/

5. ภาคครัวเรือน

รัฐบาลเดนมาร์กส่งเสริมให้ผู้คนตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมโดยเริ่มตั้งแต่การคัดแยกขยะภายในบ้านและนำไปทิ้งที่ถังขยะจำแนกประเภทเพื่อให้ง่ายต่อการกำจัด รีไซเคิล และนำไปผลิตพลังงานชีวมวลต่อไป ในขณะที่ภาคเอกชนส่งเสริมให้ประชาชนลดการใช้ถุงพลาสติกโดยการคิดค่าถุงพลาสติกในราคาขั้นต่ำที่ 4 โครนเดนมาร์ก (หรือประมาณ 20 บาท) และเรียกเก็บค่ามัดจำขวดพลาสติกและขวดแก้วเพื่อทำให้ประชาชนนำขวดมาคืนเพื่อแลกเงินกลับไปโดยจะนำขวดเหล่านั้นกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลต่อไป นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้พัฒนาพื้นที่สีเขียวและเส้นทางจักรยานเพื่อลดปริมาณการสัญจรทางรถยนต์ในตัวเมืองต่าง ๆ รวมทั้งเรียกร้องให้หน่วยงานท้องถิ่นสนับสนุนให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการมลพิษทางกาศในเมือง 


ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา เดนมาร์กได้ดำเนินมาตรการควบคุมคุณภาพอากาศครอบคลุมทั้งองคาพยพของประเทศ นอกจากการวางรากฐานทางนโยบายแล้ว ติดตามอ่านบทความ มาตรการและเทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพอากาศเดนมาร์ก (ภาคต่อ) และหากสนใจเพิ่มเติมว่าจะเปลี่ยนจากนโยบายสู่ Action อย่างไร? สามารถดาวน์โหลดรายงาน Think Green: From Policy to Action จาก State of Green


ขอบคุณบทความจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน

ติดตามข่าวสารพัฒนานวัตกรรมไทย-นอร์ดิกสู่ความยั่งยืน : Facebook: TNIU

Discover more from Welcome to TNIU

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading