มาตรการและเทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพอากาศเดนมาร์ก (ภาคต่อ)

สืบเนื่องจากบทความที่แล้ว “เดนมาร์ก อันดับ 1 สะอาดที่สุดในโลก” นอกจากด้วยเหตุผลการจัดตั้งนโยบายและกรอบทางกฏหมายเพื่อคุณภาพอากาศอย่างรอบด้านแล้ว ในบทความนี้เราจะมาเจาะลึกถึงด้านมาตรการและเทคโนโลยีนวัตกรรมกัน

Highlights

Think Denmark อ่านรายงานฉบับเต็ม ได้ที่ : Clean Air Publication

เมื่อปี 2561 เดนมาร์กได้เปิดตัว Clean Air Vision ใหม่ที่มุ่งเน้นการส่งออกโซลูชันอากาศสะอาดของเดนมาร์ก (Danish exports for clean-air solutions) ให้เป็นสองเท่าภายในปี 2573 โดยมีตัวอย่างมาตรการและการใช้เทคโนโลยีเพื่อควบคุมคุณภาพของอากาศของเดนมาร์กที่น่าสนใจ ดังนี้

1. การลดมลพิษและฝุ่นควันในเมือง    

     (1.1) ในการประชุม C40 World Mayors Summit ในกรุงโคเปนเฮเกน เมื่อปี 2562 นายกเทศมนตรีจาก 37 เมืองของเดนมาร์กได้ลงนามในปฏิญญา C40 Clean Air Declaration ให้คำมั่นในการทำให้เมืองให้สะอาดขึ้นและมีสุขภาวะที่ดีขึ้นสำหรับผู้อยู่อาศัย

ต่อมา รัฐสภาเดนมาร์กได้ออกกฎควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของยานพาหนะโดยมีการกำหนดเขตปล่อยมลพิษต่ำ (low emission zones) เมื่อปี 2565 ใน 5 เมืองหลักของประเทศ ได้แก่ กรุง Copenhagen เมือง Aarhus เมือง Aalborg เมือง Odense และเมือง Frederiksberg เพื่อทำให้แน่ใจว่ามีอากาศที่สะอาดยิ่งขึ้นสำหรับผู้อยู่อาศัยในย่านที่มีการจราจรหนาแน่น และถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบของผู้ขับขี่ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว โดยรถบรรทุก รถโดยสาร และรถตู้ที่ขับเคลื่อนด้วยดีเซลจะต้องติดตั้งตัวกรองอนุภาค (particle filter) เมื่อขับขี่เข้าสู่เขตปล่อยมลพิษต่ำ ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษค่าปรับเป็นเงินตั้งแต่ 1,500 – 12,500 โครนเดนมาร์ก (หรือประมาณ 7,500 – 62,500 บาท) และบังคับใช้กับยานพาหนะทุกประเภทรวมถึงรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศด้วย โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา

Source: https://miljoezoner.dk/

ทั้งนี้ เจ้าของรถยนต์สามารถตรวจสอบว่าทะเบียนรถของตนนั้นได้รับการอนุญาตให้ขับขี่ใน Low emission zones หรือไม่ ทางเว็บไซต์ของหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของเดนมาร์ก โดยมีบริษัท Sund & Bælt ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลยานพาหนะจากการอ่านป้ายทะเบียนด้วยกล้องอัตโนมัติ หากพบว่ายานพาหนะไม่เป็นไปตามกฎระเบียบ หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของเดนมาร์กมีสิทธิส่งใบแจ้งค่าปรับไปยังเจ้าของพาหนะ นอกจากนี้ รัฐบาลเดนมาร์กยังมีการจ่ายเงินอุดหนุนจำนวน 2,200 โครนเดนมาร์ก (ประมาณ 11,000 บาท) ให้กับเจ้าของรถยนต์ที่ไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบสภาพสมรรถนะหรือหมดอายุการใช้งานแล้วจะต้องนำไปทำลายโดยการคัดแยกขยะ

นอกจากนี้เดนมาร์กเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆของโลกที่กำหนดให้ใช้ท่อแคทตาไลติก (Catalytic Converter) ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกรองเปลี่ยนไอเสียในรถยนต์ให้สะอาดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2533 ตลอดจนการควบคุมปริมาณกำมะถันในน้ำมันเชื้อเพลิงรวมถึงปรับปรุงการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะและส่งเสริมการใช้ยานพาหนะไฟฟ้า


  (1.2) ระบบทำความร้อน

รัฐบาลเดนมาร์กได้เปลี่ยนระบบการทำความร้อน/ความอบอุ่นในแต่ละครัวเรือนจากเดิมที่ใช้ถ่านหินหรือน้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นการใช้ระบบความร้อนส่วนกลาง (district heating) ที่ผลิตจากพลังงานทดแทนหรือพลังงานความร้อนส่วนเกินจากโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม โรงงานอุตสาหกรรมและการเผาขยะ

นอกจากนี้ เมื่อปี 2551 หน่วยงาน Danish Environmental Protection Agency ได้ออกคำสั่งทางกฎหมายฉบับแรกของโลกในการจำกัดค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับเตาผิง (wood stoves) รวมถึงส่งเสริมการใช้เตาผิงที่มีตรารับรอง Nordic Ecolabel (หรือ Swan label)  ซึ่งเป็นหนึ่งในตรารับรองที่ได้ยากมากที่สุดในโลก ในบ้านพักตามครัวเรือนด้วย

ตราสัญลักษณ์ Nordic Ecolabel

2 การลดมลพิษและฝุ่นควันจากภาคการเกษตร 

2.1 ฝุ่นมาจากไหน?

ข้อมูลจาก EU ระบุว่า ฝุ่นละอองจำนวนกว่า 50% ของในเมืองมาจากแอมโมเนียและการปล่อยแอมโมเนีย 95% มาจากการผลิตทางการเกษตร เดนมาร์กจึงใช้ความพยายามอย่างมากมาตั้งแต่ปี 2530 โดยได้จัดทำ Action Plan on the Aquatic Environment และ Agreement on Green Growth เพื่อควบคุมการปล่อยไนโตรเจนและฟอสฟอรัสจากภาคเกษตรรวมถึงมาตรการเกี่ยวกับการจัดการปุ๋ยคอก เพื่อลดการปล่อยแอมโมเนียในคอกสัตว์ ซึ่งต้องมีใบอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อมในการประกอบกิจการโดยกำหนดให้ฟาร์มต่าง ๆ ต้องลดการปล่อยแอมโมเนียลง 30% 

2.2 TNIU Week – Denmark

จากผลการจัดการสัมมนาของสถานเอกอัครราชทูตฯ ร่วมกับ TNIU ในหัวข้อ “Cultivate Sustainability: Tackling Emissions From Agriculture” เมื่อเดือนกันยายน 2566 วิทยากรฝ่ายเดนมาร์กจาก Danish Agricultural & Food Council (DAFC) ได้แบ่งปันประสบการณ์วิธีการใช้เทคโนโลยีในการทำเกษตรอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคการเกษตรของเดนมาร์ก ได้แก่ การใช้สารแต่งเติมอาหารสัตว์ การลดการใช้ไนโตรเจน การใช้กระบวนการไพโรไลซิส (pyrolysis) เพื่อผลิตเชื้อเพลิงเหลวจากเศษพืช และการใช้สารยับยั้งไนตริฟิเคชั่น (nitrification inhibitors) เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสิ่งแวดล้อม เป็นต้น รวมทั้งได้กล่าวถึงการออกใบอนุญาตสำหรับการเผาไร่นา และการนำฟางจากไร่นามาใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงาน ทั้งนี้ วิทยากรเห็นว่าการขอให้เกษตรกรยุติการเผาไร่นาอาจสร้างภาระทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรและเป็นสิ่งที่เกษตรกรไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้เพียงลำพังภาครัฐจึงควรจัดทำความร่วมมือกับเกษตรกรในรูปแบบสหกรณ์เช่นเดียวกับเดนมาร์กที่มีการจัดตั้งสหกรณ์กับเกษตรกรที่ปลูกมันฝรั่งได้ร่วมกันแก้ปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และของเสียที่เหลือจากภาคการเกษตร อีกทั้งควรมีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี นวัตกรรม และความรู้กับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น UN และ EU เพราะเป็นปัญหาที่ท้าทายระดับโลก  

3. การจำกัดมลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรม 

Photo: Amager Resource Center (ARC) Source: Wikipedia

3.1 การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรม

เดนมาร์กได้มีการสร้างปล่องควันให้สูงขึ้นควบคู่กับการใช้ filtration solutions ที่หลากหลายครอบคลุมเกือบทุกอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศ อาทิ เตาเผา calciner ของบริษัท FLSmidth ที่ใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นความพยายามด้านการวิจัยและพัฒนาในการค้นหาโซลูชั่นที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ลงกว่าร้อยละ 60 SCR DeNOx catalyst ของบริษัท Umicore ซึ่งออกแบบมาเพื่อเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ลดการปล่อย NOx โดยบริษัทฯ ได้ติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวให้กับโรงผลิตพลังงานจากขยะของ Amager Resource Center (ARC) ที่บริเวณด้านบนของโรงงานซึ่งทำเป็นลานสกีเทียม และ biomass gasification technology ของบริษัท Dall Energy สำหรับโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าร่วมกับความร้อน (Combined Heat and Power (CHP) plant) โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่ไปกับความยืดหยุ่นของเชื้อเพลิงที่กว้างขวาง สามารถดูเรื่องราวเบื้องหลังนวัตกรรมได้ที่คลิปวิดิโอด้านล่าง

3.2 การควบคุมมลพิษทางอุตสาหกรรม

เดนมาร์กสนับสนุน EU ในการจัดทำ Directive on Integrated Pollution, Prevention and Control (IPPC) เมื่อปี 2539 โดย EU ได้ยกเลิกกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม/อุตสาหกรรมจากระดับประเทศ และสร้างเป็นกรอบการทำงานสำหรับแนวทางและกฎระเบียบทั่วไปของยุโรป และเมื่อปี 2553 EU ได้ออก Industrial Emissions Directive (IE-Directive) แทน IPPC Directive ซึ่งปัจจุบัน IE-Directive ถือเป็นแกนหลักของกฎระเบียบด้านอุตสาหกรรมของยุโรปร่วมกับ Medium Combustion Plant Directive for installations from 1-50 MW ที่มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2560 ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับครอบคลุมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้ที่เกิดจากการผลิตพลังงาน อุตสาหกรรมและการเผาขยะ

4. การลดมลพิษทางอากาศจากภาคการขนส่งทางน้ำ 

Photo: State of green

      4.1 การขนส่งทางเรือ

การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางเรือ การขนส่งผู้โดยสารโดยเรือข้ามฟาก และการล่องเรือสำราญ นับเป็นความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ รัฐบาลเดนมาร์กจึงผลักดันให้อุตสาหกรรมการเดินเรือ (maritime industry) เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยการใช้เทคโนโลยีสีเขียวที่ออกแบบมาสำหรับเรือโดยเฉพาะเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ 

  • เทคโนโลยีการทำความสะอาดก๊าซไอเสียหรือ scrubbing technology ที่บริษัทเดนมาร์กเป็นผู้นำด้านการผลิตดังกล่าว (scrubber producers) ได้แก่ บริษัท ME, บริษัท Pureteq และบริษัท Alfa Laval  โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะทำความสะอาดมลพิษของเรือก่อนที่จะปล่อยออกสู่บรรยากาศโดยรอบ
  • ระบบการฟอกไอเสีย (Exhaust Purification System) ที่เรียกว่า “ExLencer” ของ บริษัท Exilator ซึ่งได้ทดลองติดตั้งในเรือเฟอรี่แล้วพบว่าสามารถลดเสียงรบกวนลงกว่าร้อยละ 75 และลดอนุภาค PM2.5 ลงกว่าร้อยละ 99 
  • การใช้พลังงานแบตเตอรี่ในการเดินเรือโดยสารข้ามฟากระหว่างประเทศ (เดนมาร์ก – สวีเดน) ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 ลงกว่าร้อยละ 65 โดย บริษัท DEIF และ Forsea Ferries ได้พัฒนาระบบจากการใช้เชื้อเพลิงดีเซลเพียงอย่างเดียวเปลี่ยนมาเป็นการใช้แบตเตอรี่ด้วยการชาร์จไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียน เช่น ลม พลังน้ำ และแสงอาทิตย์ เป็นต้น โดยการทำให้เรือข้ามฟาก Aurora และ Tycho Brahe ที่บริษัทฯ ดำเนินการอยู่นั้นสามารถใช้ได้ทั้งพลังงานแบตเตอรี่ ดีเซล และแบบ hybrid ผ่านระบบการจัดการพลังงานที่จะรวบรวมข้อมูลจาก batteries’ management system (BMS) และคำนวณปริมาณการปล่อยไฟฟ้าและกำลังไฟสูงสุดที่จำเป็น เพื่อให้แน่ใจว่าแรงขับหลักจะไม่ทำให้ระบบเกินกำลัง ซึ่งหากใช้พลังงานแบตเตอรี่อย่างเดียวนั้นแทบจะไม่มีการปล่อยก๊าซ CO2 เลยแต่หากใช้เป็นระบบ hybrid โดยรวมแล้วสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 ลงได้ถึงร้อยละ 65 นอกจากนี้ อีกหนึ่งตัวอย่างที่โดดเด่นในปี 2566 ได้แก่ การเปิดตัวเรือขนส่งสินค้าที่เป็นกลางทางคาร์บอนลำแรกของโลกของบริษัท Maersk ซึ่งนับเป็นสัญลักษณ์ของการทำให้แนวคิดเรื่องการขนส่งทางเรือที่ปราศจากคาร์บอน (net zero shipping sector) กลายเป็นจริงได้จากความพยายามของพันธมิตรหลายฝ่ายที่ร่วมกันเร่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย net zero ในภาคการขนส่งทางเรือ

(2) ด้วยข้อกำหนดของ IMO เกี่ยวกับการลดสารกำมะถันในเชื้อเพลิงสูงสุดไม่เกินร้อยละ 0.5  เดนมาร์กได้พัฒนาระบบการติดตามตรวจสอบมลพิษทางอากาศในทะเล และกำหนดมาตรการกำกับดูแลการปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม โดยมีการนำเทคโนโลยี Sealed online sensors มาติดตั้งที่ปล่องไอเสียของเรือเพื่อทำให้สามารถตรวจจับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเซ็นเซอร์ดังกล่าวจะรายงานผลกลับไปยังตัวเรือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การกำหนดให้บริเวณน่านน้ำรอบเดนมาร์กเป็น low sulphur emission zone (SECA-zone) ตั้งแต่ปี 2548 ทำให้เดนมาร์กได้ติดตั้งระบบตรวจสอบโดยการใช้ airborne mounted sensors เพื่อตรวจจับเรือที่มีการปล่อยกำมะถันสูงกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งได้ติดตั้ง sniffer sensors บนสะพาน Great Belt Bridge ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรหลักเข้าและออกทะเลบอลติกด้วย 


บทสรุป

เดนมาร์กสามารถลดมลภาวะทางอากาศให้เหลือน้อยกว่า 1/5 ของระดับมลภาวะในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ได้สำเร็จ ทำให้มีคุณภาพอากาศทั้งในเขตเมืองและชนบทดีขึ้น นอกจากนี้ นโยบายพลังงานเชิงรุกของเดนมาร์กที่มุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การกระจายพลังงาน และการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ยังส่งผลให้ระบบพลังงานของเดนมาร์กมีความยืดหยุ่น ลดมลพิษและยั่งยืน

การออกกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐานสูงโดยคำนึงถึงขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม การใช้ทั้ง ‘push and pull incentives’ ในการรักษาสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลเดนมาร์ก ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในด้านโซลูชั่นและเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่ และทำให้ clean-tech / climate-tech sector เป็นภาคส่วนที่เติบโตเร็วที่สุดสาขาหนึ่งของเดนมาร์กและเป็นหนึ่งในฐานที่มั่นด้านการวิจัยและอุตสาหกรรมที่สำคัญในด้านนี้ของโลก ซึ่งความสำเร็จในการลดมลพิษทางอากาศของเดนมาร์กและการส่งออกนวัตกรรมนี้ สามารถเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับประเทศไทยที่จะศึกษาและนำแนวปฏิบัติที่ดีมาปรับใช้ในการลดมลพิษทางอากาศได้ต่อไป


ขอบคุณข้อมูลบทความจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน

ติดตามข่าวสารพัฒนานวัตกรรมไทย-นอร์ดิกสู่ความยั่งยืน : Facebook: TNIU

Discover more from Welcome to TNIU

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading